นอนกรน เกิดจากอะไร?
February 26 1:48 pm
มาถึงตรงนี้ คงสงสัยกันแล้วว่า การนอนกรน เกิดมาจากสาเหตุอะไรแน่ การจะเข้าใจสาเหตุของการนอนกรน คงต้องเข้าใจเรื่องการหายใจแบบปกติก่อนว่าเป็นอย่างไร
ปกติแล้วเวลาเราหายใจ ไม่ว่าหลับหรือตื่น ลมหายใจจะวิ่งผ่านจมูก เข้าสู่ช่องจมูก ลำคอหลังโพรงจมูก ลำคอ ผ่านกล่องเสียง และเข้าสู่ปอด หากลมหายใจวิ่งได้ราบรื่นดีตามทางเดินปกติ ก็จะไม่มีเสียงใดๆ เกิดขึ้น แต่หากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจไม่ว่าระดับใดก็ตาม ทำให้ลมที่วิ่งไปตามทางเดินปกติ มีไม่มากพอ ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการอ้าปากหายใจร่วมด้วย เมื่อลมวิ่งเข้าไป 2 ทาง ทั้งทางปากและทางจมูก ก็จะไปปะทะกันบริเวณลำคอ เกิดเป็นลมหมุน ทำให้ผนังลำคอ รวมทั้งลิ้นไก่และเพดานอ่อนสั่น เกิดเป็นเสียงกรน
หากการอุดกั้นทางเดินหายใจ เกิดขึ้นเพียงบางส่วน ร่างกายยังได้รับอากาศเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่มีปัญากับสุขภาพ มีเพียงเสียงกรนที่ดังรบกวนคนรอบข้างเท่านั้น แต่หากขณะนอนหลับ ทางเดินหายใจอุดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอุดตันจนหมด ทำให้อากาศทั้งจากทางปากและจากทางจมูก ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ เกิดภาวะที่เราเรียกว่า หยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) เมื่อหยุดหายใจ ทำให้ระดับออกซิเจนในกระแสเลือดลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อต่ำถึงระดับหนึ่ง ร่างกายก็จะมีกลไกในการป้องกันตนเอง ไม่ให้ออกซิเจนลดต่ำไปมากกว่านี้ ด้วยการปลุกให้ตัวเองตื่นขึ้น และกลับมาหายใจใหม่ การตื่นในลักษณะนี้ มักเป็นการตื่นในระยะเวลาสั้นๆ และผู้ที่หลับมักจะจำไม่ได้ว่าตื่น แต่คนรอบข้างมักจะสังเกตเห็นว่า ผู้ที่นอนมีการกรนมาระยะหนึ่ง แล้วนิ่งเงียบหายไป หลังจากนั้นจะมีอาการสะดุ้งเฮือกหรือสำลักน้ำลาย แล้วกลับมากรนใหม่
สาเหตุที่ทำให้ทางเดินหายใจไม่โล่ง มีได้ดังนี้
- ปีกจมูกแฟบหรือเล็กกว่าปกติ
- เยื่อบุจมูกอักเสบ
- ผนังกั้นกลางจมูกคด
- ริดสีดวงในจมูก หรือมีเนื้องอกในช่องจมูก
- ต่อมอดีนอยด์โต
- ต่อมทอนซิลโต
- เพดานอ่อนยืดยาวกว่าปกติ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ค่อนมาทางด้านหลัง
- ลิ้นตกมาทางด้านหลังขณะนอนหงาย ร่วมกับการมีผนังลำคอแคบจากการมีน้ำหนักมากกว่าปกติ
เมื่อไปปรึกษาแพทย์ จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจหาตำแหน่งการอุดกั้นทางเดินหายใจ ว่าส่วนใดที่เป็นปัญหา และสามารถแก้ไขได้หรือไม่ รวมทั้งการประเมินความรุนแรงของการกรนว่า เป็นกรนแบบธรรมดา หรือกรนแบบมีหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่